ประวัติความเป็นมาเมืองอิสตันบลู

ประวัติความเป็นมาเมืองอิสตันบลู หากร้อยเรียงประวัติศาสตร์ของอีสตันบูล ต้องเริ่มตั้งแต่เมืองไบแซนเทียม (Byzantium) ที่สร้างโดย ชาวกรีกเมื่อ 667 ปีก่อนคริสตกาล โดยตั้งชื่อตามกษัตริย์ Byzas เมืองไบแซนเทียมถูกครอบครองและทำลายโดยจักรวรรดิโรมัน เมื่อปี พ.ศ. 739 (ค.ศ. 196) จากนั้นโรมันได้สร้าง ไบแซนเทียมขึ้นมาใหม่อีกครั้งในยุคของจักรพรรดิเซ็ปติมัส เซเวอรัส

หลังจากนั้นจักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช แห่งจักรวรรดิโรมันได้ย้ายมาสร้างกรุงโรมใหม่ (Nova Roma) ที่ไบแซนเทียม แต่คนส่วนมากมักนิยมเรียกว่าเมือง “คอนสแตนติโนเปิล” มากกว่า ในภายหลังจักรวรรดิโรมันตะวันออกที่มีเมืองหลวงคือคอนสแตนติโนเปิล มักถูกเรียกว่า “จักรวรรดิไบแซนไทน์” คอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปยุคนั้น หลังสงครามครูเสดครั้งที่ 4 คอนสแตนติโนเปิลถูกยึดและเผาทำลาย ก่อนจะถูกยึดกลับคืนได้ในภายหลังหลังจากล่มสลายของกรุงโรมและจักรวรรดิโรมันตะวันตก คอนสแตนติโนเปิลกลายเป็นเมืองหลวงเพียงแห่งเดียวของจักรวรรดิไบแซนไทน์ และเป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์นิกาย กรีกออเธอร์ด็อกซ์ โดยมีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างเช่น โบสถ์ฮาเจีย โซเฟีย เป็นต้น

กระทั่งถึงจักรวรรดิออตโตมัน ในปี พ.ศ. 1996 (ค.ศ. 1453) สุลต่านเมห์เม็ดที่ 2 ได้บุกยึดกรุงคอนสแตนติโนเปิล ตัวเมืองได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีกครั้งใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมแบบมุสลิม ชื่อของเมืองเปลี่ยนเป็นอิสตันบูล ในสมัยของจักรวรรดิออตโตมัน เมืองอิสตันบูลได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมาก  การก้าวสู่สาธารณรัฐตุรกี เมื่อสาธารณรัฐตุรกีถูกก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2466 (ค.ศ. 1923) เมืองหลวงของประเทศย้ายจากอิสตันบูลไปที่เมืองอังการา นับระยะเวลาที่อิสตันบูลเป็นเมืองหลวงทั้งสิ้น 1,610 ปี ในสมัยกษัตริย์คอนสแตนติน มีการก่อกำแพงเมืองล้อมเขา 7 ลูก เพราะพระองค์มีพระประสงค์จะสร้างเมืองบนภูเขา 7 ลูกให้เหมือนกรุงโรม เขา 6 ใน 7 ลูก อยู่ริมฝั่งโกลเดนฮอร์น ได้แก่

เขาลูกที่ 1 เป็นที่ตั้งของพระราชวังทอปกาปิ (Topkapi Sarayi) และวิหารเซนต์โซเฟีย (Hagia Sophia Church หรือ St.Sophia Mosque)
เขาลูกที่ 2 เป็นที่ตั้งของสุเหร่าเชมแบร์ลิทัส (Cemberlitas Camii) และนูรูโอส์มาเนีย (Nuruosmaniye Camii)
เขาลูกที่ 3 เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยอิสตันบูล (Istanbul Universitesi หรือ Istanbul University) และสุเหร่าสุไลมานิเย (Suleymaniye Camii)
เขาลูกที่ 4 เป็นที่ตั้งของสุเหร่าฟาทิห์ (Fatih Camii)
เขาลูกที่ 5 เป็นที่ตั้งของสุเหร่าเซลิม (Sultan Selim Camii)
เขาลูกที่ 6 เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เซนต์โครา (Kariye Muzesi หรือ Chora Church Museum) และประตูเอดีร์เน (Edirnekapi)
เขาลูกที่ 7 เป็นที่ตั้งของสุเหร่าโคจามุสตาฟาพาซา (Koca Mustafa Pasa) และบริเวณโดยรอบ