ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกี

ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกี

ในคืนนั้นประชาชนไม่มีปืน พวกเขามีเพียงธงชาติ แต่ที่สำคัญ พวกเขามีความศรัทธา” ผู้นำตุรกีกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พลเมืองจำนวนมากเผชิญหน้ากับกองทหารฝ่ายพยายามก่อรัฐประหาร บริเวณสะพานข้ามช่องแคบบอสฟอรัส “ผมขอขอบคุณทุกคนในชาติที่ปกป้องประเทศของตนเอง แม้พวกกบฏที่ปิดสะพานในคืนนั้นต้องการให้โลกเห็นว่ามีอำนาจควบคุมได้ แต่ผู้คนนับล้านที่ออกมาต่อสู้ได้พิทักษ์เกียรติของชาติเอาไว้”

หลังการกล่าวสุนทรพจน์ ผู้นำตุรกีได้ทำพิธีเปิด “อนุสรณ์สถานแห่งมรณสักขี” ที่เชิงสะพานข้ามช่องแคบบอสฟอรัสซึ่งได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น “สะพานแห่งมรณสักขี 15 กรกฎาคม” รัฐบาลตุรกียังได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันหยุดประจำปีของทางการด้วย

ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้ ประธานาธิบดีแอร์โดอันยังกล่าวว่าจะบดขยี้ศีรษะของบรรดาผู้ทรยศที่สมคบกันวางแผนก่อรัฐประหาร และเมื่อคนเหล่านี้ขึ้นศาล จะให้สวมเครื่องแบบนักโทษแบบเดียวกับของเรือนจำกวนตานาโมด้วย

หลังสิ้นสุดพิธีการที่นครอิสตันบูล นายแอร์โดอันได้เดินทางกลับไปยังกรุงอังการา เพื่อขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาในเวลาเที่ยงคืน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่เหตุพยายามก่อรัฐประหารเมื่อปีที่แล้วเริ่มขึ้น และจะได้ทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ผู้วายชนม์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในช่วงเช้า

ทั้งนี้ รัฐบาลตุรกีมองว่าความพยายามก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวเป็นเสมือนการก้าวสู่ยุคใหม่ โดยเป็นการได้ชัยชนะใน “สงครามเพื่ออิสรภาพครั้งที่สอง” ตั้งแต่การก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ของตุรกีในช่วงทศวรรษ 1920 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านมองว่ารัฐบาลฉวยโอกาสหลังความพยายามก่อรัฐประหาร เข้าปราบปรามกลุ่มผู้เห็นต่างจำนวนมาก โดยตลอดเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ได้สั่งปลดเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักวิชาการ รวมทั้งตำรวจและทหารไปแล้วกว่า 150,000 คน และมีผู้ถูกจับกุมอีกราว 50,000 คน ซึ่งล้วนถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่ภักดีในตัวนายเฟตุลลาห์ กูเลน ผู้นำทางศาสนาที่ลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯ

รัฐบาลตุรกีกล่าวหาว่านายกูเลนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแผนก่อรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว แต่นายกูเลนปฏิเสธและทางการสหรัฐฯยังคงไม่ยินยอมส่งตัวนายกูเลนให้ตามที่รัฐบาลตุรกีร้องขอ